โรคเบาหวาน (Diabetes) อาการ, สาเหตุ, การรักษา, วิธีป้องกัน ฯลฯ



เบาหวาน

โรคเบาหวาน (Diabetes mellitus : DMDiabetes) เป็นโรคที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการนำน้ำตาลไปใช้ประโยชน์อันเกี่ยวเนื่องกับความบกพร่องของฮอร์โมนอินซูลิน* ทำให้ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ หากปล่อยให้ร่างกายอยู่ในสภาวะนี้เป็นเวลานานจะทำให้อวัยวะต่าง ๆ เสื่อม ก่อให้เกิดอาการและภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา ผู้ที่เป็นเบาหวานมักจะมีประวัติคนในครอบครัว (พ่อแม่หรือญาติพี่น้องสายตรง) เป็นโรคนี้ด้วย และมักจะมีภาวะน้ำหนักตัวเกินร่วมด้วย
เบาหวานเป็นโรคที่พบได้สูงในคนทุกอายุและทั้งสองเพศ และพบได้สูงขึ้นตามอายุที่มากขึ้น ในบ้านเราพบคนเป็นโรคเบาหวานประมาณ 4-6% ของประชากรทั่วไป, 7.1% ของคนไทยช่วงอายุ 20-79 ปี และ 9.6% ของคนไทยที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2556 มีผู้ป่วยเบาหวานในประเทศไทยประมาณกว่า 3.5 ล้านคน) และทางสหพันธ์เบาหวานนานาชาติมีการคาดการณ์ว่าจำนวนผู้ป่วยเบาหวานทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 415 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2558 เป็น 642 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2583
คนจำนวนมากกว่าครึ่งไม่ทราบว่าตนเป็นโรคเบาหวาน สถิติการพบผู้ป่วยโรคนี้จึงยังมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ต้องมีการรณรงค์กันอย่างต่อเนื่องถึงภัยร้ายของโรคนี้ เพราะโรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หาย มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนลุกลามใหญ่โตจนต้องสูญเสียอวัยวะที่สำคัญของร่างกายได้ ด้วยเหตุนี้ทางสหพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation : IDF) และองค์การอนามัยโลก (WHO) จึงได้กำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปีเป็นวันเบาหวานโลก เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของโรคนี้
หมายเหตุ : อินซูลิน (Insulin) เป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากเบตาเซลล์ (Beta cells) ของตับอ่อน (Pancreas) โดยฮอร์โมนอินซูลินนี้จะมีหน้าที่ช่วยนำน้ำตาลหรือกลูโคสในเลือด (ซึ่งได้จากอาหารที่เรารับประทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารจำพวกแป้ง คาร์โบไฮเดรต และของหวาน) เข้าสู่ทั่วร่างกาย เพื่อเผาผลาญให้เป็นพลังงานสำหรับการทำหน้าที่ของอวัยวะต่าง ๆ

สถิติเบาหวาน

สาเหตุของโรคเบาหวาน

โรคเบาหวานมีสาเหตุมาจากการบกพร่องของฮอร์โมนอินซูลิน ผู้ที่เป็นเบาหวานจะพบว่าตับอ่อนผลิตอินซูลินได้น้อยหรือผลิตไม่ได้เลย หรือผลิตได้ปกติ แต่ประสิทธิภาพของอินซูลินลดลง เช่นที่พบในคนอ้วน ซึ่งเรียกว่า “ภาวะดื้อต่ออินซูลิน” (Insulin resistance) เมื่อขาดอินซูลินหรืออินซูลินทำหน้าที่ไม่ได้ น้ำตาลในเลือดจึงเข้าสู่เซลล์ต่าง ๆ ได้น้อยกว่าปกติ จึงทำให้เกิดการคั่งของน้ำตาลในเลือด และน้ำตาลก็จะถูกขับออกมาทางปัสสาวะ นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมเราถึงเรียกโรคนี้ว่า “เบาหวาน
ผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นมาก (มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมาก) มักจะมีอาการปัสสาวะบ่อยและมาก เพราะน้ำตาลที่ออกมาทางไตจะดึงเอาน้ำออกมาด้วย จึงทำให้มีปัสสาวะออกมามากกว่าปกติ เมื่อผู้ป่วยถ่ายปัสสาวะมากก็จะทำให้รู้สึกกระหายน้ำจนต้องคอยดื่มน้ำบ่อย ๆ และเนื่องจากร่างกายของผู้ป่วยเบาหวานจะไม่สามารถนำน้ำตาลมาเผาผลาญเป็นพลังงานได้ ร่างกายจึงหันมาเผาผลาญกล้ามเนื้อและไขมันแทน จึงทำให้ร่างกายผอม กล้ามเนื้อฝ่อลีบ ไม่มีไขมัน อ่อนเปลี้ยเพลียแรง นอกจากนี้ การมีน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน ๆ ยังทำให้อวัยวะตาง ๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงผิดปกติและนำมาซึ่งภาวะแทรกซ้อนได้มากมาย
สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานนั้น สามารถอ่านได้ที่หัวข้อด้านล่าง เกณฑ์การตรวจคัดกรองโรคเบาหวานในผู้ที่ไม่มีอาการแสดง

ชนิดของเบาหวาน

โรคเบาหวานสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายชนิด ซึ่งจะมีสาเหตุ ความรุนแรง และการรักษาที่แตกต่างกันไป ได้แก่
  1. เบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 diabetes mellitus) ซึ่งแต่เดิมผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะเรียกว่า “เบาหวานชนิดพึ่งอินซูลิน” (Insulin-dependent diabetes mellitus : IDDM) เป็นเบาหวานชนิดที่พบได้น้อยประมาณ 5% ของเบาหวานทั้งหมด แต่มีความรุนแรงและอันตรายสูง อาการของโรคจะมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน เบาหวานชนิดนี้มักพบในเด็กและผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี (จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “โรคเบาหวานในเด็กและวัยรุ่น” หรือ Juvenile diabetes mellitus) แต่ก็อาจพบในผู้สูงอายุได้บ้าง ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ตับอ่อนจะผลิตอินซูลินได้น้อยมากหรือผลิตไม่ได้เลย ซึ่งแพทย์เชื่อว่าร่างกายของผู้ป่วยมีการสร้างสารภูมิต้านทานขึ้นมาต่อต้านทำลายตับอ่อนของตนเองจนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ ดังที่เรียกว่า “โรคภูมิต้านตนเอง” (Autoimmune) ทั้งนี้เป็นผลมาจากความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ ร่วมกับการติดเชื้อหรือการได้รับสารพิษจากภายนอก ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีรูปร่างผอม มีอาการของโรคชัดเจนและจำเป็นต้องพึ่งพาการฉีดอินซูลินเข้าไปทดแทนทุกวันตลอดชีวิต ร่างกายจึงจะสามารถเผาผลาญน้ำตาลได้ตามปกติ มิเช่นนั้นร่างกายจะหันไปเผาผลาญไขมันแทนจนทำให้ร่างกายผอมลงอย่างรวดเร็ว และถ้าเป็นรุนแรงก็จะมีการคั่งของสารคีโตน (Ketones) ซึ่งเป็นสารที่เป็นพิษต่อระบบประสาท (สารคีโตนนี้เป็นสารที่เกิดจากการเผาผลาญไขมัน) จึงทำให้ผู้ป่วยหมดสติถึงตายได้อย่างรวดเร็ว เรียกว่า “ภาวะคั่งสารคีโตน” (Ketosis)
  2. เบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 diabetes mellitus) ซึ่งแต่เดิมผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะเรียกว่า “เบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน” (Non-insulin-dependent diabetes mellitus : NIDDM) เป็นเบาหวานชนิดที่พบได้เป็นส่วนใหญ่ประมาณ 90-95% ของเบาหวานทั้งหมด เมื่อพูดถึงโรคเบาหวาน จึงมักหมายถึงเบาหวานชนิดนี้ โดยเบาหวานชนิดที่ 2 นี้มักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 30-40 ปีขึ้นไป (จึงเรียกอีกชื่อว่า “เบาหวานในผู้ใหญ่” หรือ Adult onset diabetes mellitus) แต่ในปัจจุบันก็มีแนวโน้มจะพบในเด็กและวัยรุ่นได้มากขึ้น เบาหวานชนิดนี้มักมีความรุนแรงน้อย เพราะตับอ่อนของผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังสามารถผลิตอินซูลินได้ แต่ไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย (อาการของโรคจึงมีการพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไปในระยะเวลานาน) หรือผลิตได้เพียงพอแต่เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน จึงทำให้มีน้ำตาลคั่งในเลือดกลายเป็นเบาหวานได้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีภาวะน้ำหนักตัวเกินหรืออ้วน สาเหตุอาจเกิดจากกรรมพันธุ์ อ้วนเกินไป ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่มีอาการแสดงชัดเจนและมักไม่เกิดภาวะคั่งสารคีโตน การควบคุมอาหารหรือการใช้ยาเบาหวานชนิดรับประทานมักจะได้ผลในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติได้ (แต่บางครั้งที่ระดับน้ำตาลสูงมาก ๆ ก็อาจต้องใช้อินซูลินฉีดเป็นครั้งคราว) ยกเว้นในรายที่ดื้อต่อยารับประทานที่อาจต้องใช้อินซูลินตลอดไป
  3. เบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational diabetes mellitus : GDMพบได้ประมาณ 2-5% ของเบาหวานทั้งหมด โดยในขณะตั้งครรภ์รกจะสร้างฮอร์โมนหลายชนิดเข้าไปในร่างกายหญิงตั้งครรภ์ (ซึ่งฮอร์โมนบางชนิดจะมีฤทธิ์ต่อต้านฮอร์โมนอินซูลิน) จึงทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน เป็นเหตุให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงจนกลายเป็นเบาหวาน แต่หลังคลอดบุตรระดับน้ำตาลในเลือดของมารดามักจะกลับเป็นสู่ปกติ (หญิงกลุ่มนี้อาจคลอดทารกตัวโตที่มีน้ำหนักแรกคลอดมากกว่า 4 กิโลกรัม และมักเป็นเบาหวานซ้ำอีกเมื่อตั้งครรภ์ใหม่ และจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานเรื้อรังตามมาได้ในระยะยาว) อ่านข้อมูลเพิ่มเติมที่ เบาหวานขณะตั้งครรภ์
  4. เบาหวานที่มีสาเหตุจำเพาะอื่น ๆ เช่น เบาหวานที่เกิดจากการใช้ยาบางชนิด (เช่น ยาสเตียรอยด์ ยาขับปัสสาวะไทอะไซด์ ฮอร์โมนไทรอยด์ กรดนิโคตินิก), เบาหวานที่พบร่วมกับโรคหรือภาวะผิดปกติทางกรรมพันธุ์ เช่น เบาหวานที่พบร่วมกับโรคติดเชื้อ (เช่น คางทูม หัดเยอรมันโดยกำเนิด โรคติดเชื้อไซโตเมกาโลไวรัส) เบาหวานที่พบร่วมกับโรคอื่น ๆ (เช่น ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง มะเร็งตับอ่อน กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่ชนิดหลายถุง โรคคุงชิง เนื้องอกต่อมหมวกไตฟีโอโครโมโซโตมา โรคอะโครเมกาลี)  

ชนิดของเบาหวาน

อาการของโรคเบาหวาน

  • ในรายที่เป็นไม่มาก (ระดับน้ำตาลในเลือดไม่เกิน 200 มก./ดล.) ซึ่งพบได้เป็นส่วนใหญ่ในกลุ่มเบาหวานชนิดที่ 2 ผู้ป่วยจะยังรู้สึกสบายดีและไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ และมักตรวจพบได้โดยบังเอิญจากการตรวจปัสสาวะหรือการตรวจเลือดในขณะที่ไปพบแพทย์ด้วยสาเหตุอื่นหรือจากการตรวจสุขภาพทั่วไป
  • ในรายที่เป็นมาก (ระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า 200 มก./ดล.) ซึ่งพบได้ในกลุ่มเบาหวานชนิดที่ 2 และเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งเป็นถึงขั้นรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการปัสสาวะบ่อยและออกครั้งละมาก ๆ กระหายน้ำบ่อย ปากแห้ง หิวบ่อยหรือกินข้าวจุ รู้สึกเหนื่อยง่าย อ่อนเปลี้ยเพลียแรง และบางรายอาจสังเกตว่าปัสสาวะมีมดขึ้น
    • ปัสสาวะบ่อยและออกครั้งละมาก ๆ เพราะฮอร์โมนอินซูลินที่ผลิตได้ไม่เพียงพอหรือไม่สามารถผลิตได้ จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และไตไม่สามารถกรองน้ำตาลส่วนเกินกลับเข้าสู่เลือด จึงปล่อยออกมาพร้อมกับน้ำกลายเป็นปัสสาวะ ผู้ป่วยเบาหวานจึงปัสสาวะบ่อยและมีปริมาณมาก
    • กระหายน้ำบ่อย เพราะสูญเสียน้ำจากการปัสสาวะบ่อยครั้ง ร่างกายจึงจำเป็นต้องชดเชยน้ำที่เสียไปทำให้เกิดความกระหายน้ำและอยากดื่มน้ำมากกว่าปกติ
    • หิวบ่อยหรือกินจุ เพราะขาดฮอร์โมนอินซูลิน จึงทำให้เซลล์ไม่ได้รับพลังงาน ร่างกายจึงพยายามหาแหล่งอาหารมากขึ้นด้วยการส่งสัญญาณออกมาด้วยอาการหิว
    • เหนื่อยง่าย เพราะน้ำตาลไม่สามารถเข้าสู่เซลล์เพื่อเผาผลาญเป็นพลังงานได้
    • ในรายที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการแสดงชัดเจน มีเพียงส่วนน้อยที่จะมีอาการผิดปกติดังกล่าวข้างต้น น้ำหนักตัวอาจลดลงบ้างเล็กน้อย แต่บางรายอาจมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีภาวะน้ำหนักตัวเกินหรือโรคอ้วนอยู่แต่เดิม ในรายที่เป็นเรื้อรังมานานทั้งที่มีอาการและไม่มีอาการปัสสาวะบ่อยมาก่อน อาจมีอาการคันตามตัว เป็นฝีหรือโรคติดเชื้อราที่ผิวหนังบ่อย หรือเป็นแผลเรื้อรังที่หายช้ากว่าปกติ (โดยเฉพาะแผลที่บริเวณเท้า) หรืออาจมาพบแพทย์ด้วยภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ชาหรือปวดแสบปวดร้อนตามปลายมือปลายเท้า เกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เจ็บจุกหน้าอกจากโรคหัวใจขาดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาต สายตามัวลงทุกทีหรือต้องเปลี่ยนแว่นสายตาบ่อย ฯลฯ
      • น้ำหนักลดลงผิดปกติ เพราะเซลล์ไม่สามารถนำน้ำตาลมาเผาผลาญเป็นพลังงานได้ ร่างกายจึงหันมาเผาผลาญกล้ามเนื้อและไขมันแทน จึงทำให้ร่างกายผอม กล้ามเนื้อฝ่อลีบ ไม่มีไขมัน
      • สายตามัว เห็นภาพไม่ชัด เกิดจากระดับน้ำตาลในเลือดสูง ทำให้เกิดการคั่งของน้ำตาลในเลนส์ตาจนจอประสาทตาเกิดอาการผิดปกติ หรือมีระดับน้ำตาลสูงเป็นเวลานานจนเกิดความผิดปกติของจอประสาทตา ซึ่งในบางรายอายอาจรุนแรงถึงขั้นตาบอด
    • ในรายที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 อาการต่าง ๆ มักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วร่วมกับน้ำหนักตัวลดลงอย่างฮวบฮาบ (กินเวลาเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน) ในผู้ป่วยเด็กบางรายอาจมีอาการปัสสาวะรดที่นอนในตอนกลางคืน ผู้ป่วยบางรายอาจมาโรงพยาบาลด้วยอาการหมดสติจากภาวะคีโตแอซิโดซิส (Ketoacidosis) ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีอายุน้อยและรูปร่างผอม

อาการเบาหวาน



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้